วันอังคารที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

บทที่ 7 ระบบสุริยะ

ระบบสุริยะ 
          คือระบบดาวที่มีดาวฤกษ์เป็นศูนย์กลาง และมีดาวเคราะห์ (Planet) เป็นบริวารโคจร  อยู่โดยรอบ เมื่อสภาพแวดล้อมเอื้ออำนวย ต่อการดำรงชีวิต สิ่งมีชีวิตก็จะเกิดขึ้นบนดาวเคราะห์เหล่านั้น หรือ บริวารของดาวเคราะห์เองที่เรียกว่าดวงจันทร์ (Satellite) นักดาราศาสตร์เชื่อว่า ในบรรดาดาวฤกษ์ทั้งหมดกว่าแสนล้านดวงในกาแลกซี่ทางช้างเผือก ต้องมีระบบสุริยะที่เอื้ออำนวยชีวิตอย่าง ระบบสุริยะที่โลกของเราเป็นบริวารอยู่อย่างแน่นอน เพียงแต่ว่าระยะทางไกลมากเกินกว่าความสามารถในการติดต่อจะทำได้



กำเนิดระบบสุริยะ

          ระบบสุริยะเกิดจากกลุ่มฝุ่นและแก๊สในอวกาศซึ่งเรียกว่า โซลาร์เนบิวลา” (Solar Nebula) รวมตัวกันเมื่อประมาณ 4,600 ล้านปีมาแล้ว (นักวิทยาศาสตร์คำนวณจากอัตราการหลอมรวมไฮโดรเจนเป็นฮีเลียมภายในดวงอาทิตย์) เมื่อสสารมากขึ้นแรงโน้มถ่วงระหว่างมวลสารมากขึ้นตามไปด้วย กลุ่มฝุ่นและแก๊สยุบตัวหมุนเป็นรูปจานตามหลักอนุรักษ์โมเมนตัมเชิงมุม ดังภาพที่ 1 แรงโน้มถ่วงที่เพิ่มขึ้นสร้างแรงกดดันที่ใจกลางจนอุณหภูมิสูงถึง 15 ล้านเคลวิน จุดปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิวชัน หลอมรวมอะตอมของไฮโดรเจนให้เป็นฮีเลียม ดวงอาทิตย์กำเนิดเป็นดาวฤกษ์ 

          วัสดุรอบๆ ดวงอาทิตย์ (Planetisimal) ยังคงหมุนวนและโคจรรอบดวงอาทิตย์ด้วยโมเมนตัมที่มีอยู่เดิม  มวลสารในวงโคจรแต่ละชั้นรวมตัวกันเป็นดาวเคราะห์  อิทธิพลจากแรงโน้มถ่วงทำให้วัสดุที่อยู่รอบๆ พุ่งเข้าหาดาวเคราะห์จากทุกทิศทาง  ถ้าทิศทางของการเคลื่อนที่มีมุมลึกก็จะพุ่งชนดาวเคราะห์ ทำให้ดาวเคราะห์นั้นมีขนาดใหญ่และมีมวลเพิ่มขึ้น แต่ถ้ามุมของการพุ่งชนตื้นเกินไปก็อาจจะทำให้แฉลบเข้าสู่วงโคจร และเกิดการรวมตัวกลายเป็นดวงจันทร์บริวาร ดังจะเห็นว่า ดาวเคราะห์ขนาดใหญ่ เช่น ดาวพฤหัสบดีและดาวเสาร์มีดวงจันทร์บริวารหลายดวง  เนื่องจากเป็นดาวเคราะห์ขนาดใหญ่มีมวลมากจึงมีแรงโน้มถ่วงมาก ต่างกับดาวพุธซึ่งเป็นดาวเคราะห์ขนาดเล็กมีมวลน้อยจึงมีแรงโน้มถ่วงน้อยจึงไม่มีดวงจันทร์บริวารเลย  ส่วนดาวเคราะห์น้อยและดาวหางนั้นมีรูปทรงเหมือนอุกกาบาต เพราะเป็นดาวขนาดเล็กมีมวลน้อย แรงโน้มถ่วงจึงไม่สามารถเอาชนะแรงยึดเหนี่ยวระหว่างสสารให้ยุบรวมเป็นทรงกลมได้


          หลักฐานที่ยืนยันทฤษฏีกำเนิดระบบสุริยะก็คือ ถ้ามองจากด้านบนของระบบสุริยะ (Top view) จะสังเกตได้ว่า ทั้งดวงอาทิตย์ ดาวเคราะห์ และดวงจันทร์บริวารเกือบทุกดวง หมุนรอบตัวเองในทิศทวนเข็มนาฬิกา และโคจรรอบดวงทิตย์ในทิศทวนเข็มนาฬิกา และหากมองจากด้านข้างของระบบสุริยะ (Side view) ก็จะสังเกตได้ว่า ดาวเคราะห์และดวงจันทร์บริวารเกือบทุกดวง มีระนาบวงโคจรใกล้เคียงกับระนาบสุริยวิถี (Ecliptic plane) ทั้งนี้ก็เนื่องมาจากระบบสุริยะทั้งระบบกำเนิดขึ้นพร้อมๆ กัน จากการยุบรวมและหมุนตัวของจานฝุ่นใน Solar nebula ดังที่กล่าวมา

ส่วนประกอบของระบบสุริยะ

          ดาวเคราะห์ (Planet)  คือวัตถุขนาดใหญ่ที่โคจรรอบดาวฤกษ์ ก่อนคริสต์ทศวรรษ 1990 มีดาวเคราะห์ที่เรารู้จักเพียง 8 ดวง (ทั้งหมดอยู่ในระบบสุริยะ) ปัจจุบันเรารู้จักดาวเคราะห์ใหม่อีกมากกว่า 100 ดวง ซึ่งเป็นดาวเคราะห์นอกระบบ คือ โคจรรอบดาวฤกษ์


ดวงอื่นที่ไม่ใช่ดวงอาทิตย์
          ทฤษฎีที่เป็นที่ยอมรับกันมากที่สุดในปัจจุบันกล่าวว่าดาวเคราะห์ก่อตัวขึ้นจากการยุบตัวลงของกลุ่มฝุ่นและแก๊ส พร้อมๆ กับการก่อกำเนิดดวงอาทิตย์ที่ใจกลาง ดาวเคราะห์ไม่มีแสงสว่างในตัวเอง สามารถมองเห็นได้เนื่องจากพื้นผิวสะท้อนแสงจากดวงอาทิตย์ ดาวเคราะห์ส่วนใหญ่ในระบบสุริยะมีดาวบริวารโคจรรอบ ยกเว้นดาวพุธและดาวศุกร์ และสามารถพบระบบวงแหวนได้ในดาวเคราะห์ขนาดใหญ่อย่างดาวพฤหัสบดี ดาวเสาร์ ดาวยูเรนัส และดาวเนปจูน มีเพียงดาวเสาร์เท่านั้นที่สามารถมองเห็นวงแหวนได้ชัดเจนด้วยกล้องโทรทรรศน์

การจำแนกดาวเคราะห์

          ดาวเคราะห์ชั้นใน (Inner Planets)  เป็นดาวเคราะห์ขนาดเล็ก มีความหนาแน่นสูงและพื้นผิวเป็นของแข็ง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นธาตุหนัก มีบรรยากาศอยู่เบาบาง ทั้งนี้เนื่องจากอิทธิพลจากความร้อนของดวงอาทิตย์และลมสุริยะ ทำให้ธาตุเบาเสียประจุ ไม่สามารถดำรงสถานะอยู่ได้   ดาวเคราะห์ชั้นในบางครั้งเรียกว่า ดาวเคราะห์พื้นแข็ง “Terrestrial Planets"เนื่องจากมีพื้นผิวเป็นของแข็งคล้ายคลึง
กับโลก  ดาวเคราะห์ชั้นในมี 4 ดวง คือ ดาวพุธ  ดาวศุกร์  โลก  และดาวอังคาร
          ดาวเคราะห์ชั้นนอก (Outer Planets)  เป็นดาวเคราะห์ขนาดใหญ่ แต่มีความหนาแน่นต่ำ เกิดจากการสะสมตัวของธาตุเบาอย่างช้าๆ  ทำนองเดียวกับการก่อตัวของก้อนหิมะ เนื่องจากได้รับอิทธิพลของความร้อนและลมสุริยะจากดวงอาทิตย์เพียงเล็กน้อย  ดาวเคราะห์พวกนี้จึงมีแก่นขนาดเล็กห่อหุ้มด้วยก๊าซจำนวนมหาสาร  บางครั้งเราเรียกดาวเคราะห์ประเภทนี้ว่า ดาวเคราะห์ก๊าซยักษ์ (Gas Giants) หรือ  Jovian Planets   ซึ่งหมายถึงดาวเคราะห์ที่มีคุณสมบัติคล้ายดาวพฤหัสบดี  ดาวเคราะห์ชั้นนอกมี 4 ดวงคือ ดาวพฤหัสบดี    ดาวเสาร์ ดาวยูเรนัส และดาวเนปจูน


       
          ในยุคก่อนมียานอวกาศ นักดาราศาสตร์จำแนกประเภทดาวเคราะห์ ตามลักษณะที่ได้จากการสังเกตการณ์ด้วยมุมมองจากโลก โดยใช้วงโคจรของโลกเป็นเกณฑ์ในการแบ่งดาวเคราะห์ออกเป็นดาวเคราะห์วงในและดาวเคราะห์วงนอก
          ดาวเคราะห์ชั้นใน (Inferior Planets) หมายถึง ดาวเคราะห์ที่อยู่ใกล้ดวงอาทิตย์มากกว่าโลก ได้แก่ ดาวพุธ และดาวศุกร์  เราจึงมองเห็นเคราะห์จึงมองเห็นดาวเคราะห์วงในอยู่ใกล้ดวงอาทิตย์

          ดาวเคราะห์วงนอก (Superior Planets)  หมายถึง ดาวเคราะห์ที่อยู่ไกลดวงอาทิตย์มากกว่าโลก ได้แก่ ดาวอังคาร ดาวพฤหัสบดี ดาวเสาร์ ดาวยูเรนัส และดาวเนปจูน

ดาวเคราะห์ทั้ง 8  ของระบบสุริยะ

ดาวพุธ (Mercury)


          ดาวพุธ (Mercury) เป็นดาวเคราะห์ซึ่งอยู่ใกล้กับดวงอาทิตย์มากที่สุด เป็นดาวเคราะห์ขนาดเล็ก และไม่มีดวงจันทร์เป็นบริวาร โครงสร้างภายในของดาวพุธประกอบไปด้วยแกนเหล็กขนาดใหญ่มีรัศมีประมาณ 1,800 ถึง 1,900 กิโลเมตร ล้อมรอบด้วยชั้นที่เป็นซิลิเกต (ในทำนองเดียวกับที่แกนของโลกถูกห่อหุ้มด้วยแมนเทิลและเปลือก) ซึ่งหนาเพียง 500 ถึง 600 กิโลเมตร บางส่วนของแกนอาจจะยังหลอมละลายอยู่


          ดาวพุธเป็นดาวเคราะห์ที่อยู่ใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุด จึงปรากฏให้เห็นบนท้องฟ้าไม่ไกลจากตำแหน่งของดวงอาทิตย์ ดาวพุธมีแกนหมุนที่เกือบตั้งฉากกับระนาบการโคจรรอบดวงอาทิตย์  ดาวพุธหมุนรอบตัวเองช้ามาก โดยจะหมุนรอบตัวเองครบ 3 รอบเมื่อโคจรรอบดวงอาทิตย์ครบ 2 รอบ ดาวพุธไม่มีชั้นบรรยากาศห่อหุ้ม ทำให้พื้นผิวดาวพุธมีการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิอย่างมาก ตั้งแต่ 183 ถึง 427องศาเซลเซียส

ดาวศุกร์ (Venus)

         ดาวศุกร์ (Venus)  อยู่ห่างจากดวงอาทิตย์เป็นลำดับที่ 2 เป็นดาวเคราะห์ที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 6 ไม่มีดวงจันทร์บริวาร ดาวศุกร์มีลักษณะที่คล้ายคลึงกับโลก จนได้ชื่อว่าเป็นดาวเคราะห์ฝาแฝดกับโลกของเรา โครงสร้างภายในของดาวศุกร์ ประกอบด้วย แกนกลางที่เป็นเหล็กมีรัศมีประมาณ 3,000กิโลเมตร ห่อหุ้มด้วยชั้นแมนเทิลที่มีความหนาประมาณ 3,000 กิโลเมตร และเปลือกแข็งที่ประกอบด้วยหินซิลิเกต
             ชั้นบรรยากาศของดาวศุกร์นั้นมีความหนาแน่นมาก ความกดอากาศบนพื้นผิวดาวศุกร์สูงกว่าความกดอากาศบนพื้นผิวโลก 90 เท่าหรือมีค่าเท่ากับความดันที่ใต้ทะเลลึก 1 กิโลเมตร  บรรยากาศของดาวศุกร์ประกอบไปด้วยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์เป็นส่วนใหญ่ และมีชั้นเมฆอยู่หลายชั้นที่ประกอบไปด้วยแก๊สซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (กรดกำมะถัน) ซึ่งมีความหนาหลายกิโลเมตร ทำให้เราไม่สามารถมองเห็นพื้นผิวดาวศุกร์  ชั้นบรรยากาศที่หนาทึบทำให้เกิดสภาวะเรือนกระจกกักเก็บความร้อนไว้ ทำให้อุณหภูมิพื้นผิวสูงถึง 470°C  จะเห็นได้ว่าพื้นผิวดาวศุกร์ร้อนกว่าพื้นผิวดาวพุธมาก ทั้งๆ ที่อยู่ไกลจากดวงอาทิตย์กว่าดาวพุธถึงสองเท่าก็ตาม

           ดาวศุกร์ปรากฏเป็นเสี้ยวเช่นเดียวกับดวงจันทร์  โดยเราสามารถสังเกตได้ด้วยกล้องโทรทรรศน์ดาวศุกร์นั้นมีขนาดใหญ่กว่าและอยู่ใกล้โลกมากกว่าดาวพุธ เราจึงสังเกตเห็นดาวศุกร์สว่างจ้ากว่าดาวพุธมาก  มีความสว่างเป็นรองจากดวงจันทร์ในยามค่ำคืนเมื่อปรากฏให้เห็นในเวลาใกล้ค่ำเรียกว่า ดาวประจำเมือง  และเรียกว่า ดาวประกายพรึก เมื่อปรากฏให้เห็นในเวลารุ่งเช้า

โลก (The Earth)

          โลก (The Earth) เป็นดาวเคราะห์ดวงเดียวในระบบสุริยะที่มีสภาวะแวดล้อมเอื้ออำนวยต่อการดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิต โลกอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์เป็นลำดับที่ 3 และมีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 5 โลกมีสัณฐานเป็นทรงกลมแป้นมีรัศมีเฉลี่ย 6,371 กิโลเมตร โครงสร้างภายในของโลกประกอบไปด้วยแก่นชั้นในที่เป็นเหล็ก มีรัศมีประมาณ 1,200 กิโลเมตรห่อหุ้มด้วยแก่นชั้นนอกที่เป็นของเหลว (Liquid) ประกอบด้วยเหล็กและนิเกิล มีความหนาประมาณ 2,200 กิโลเมตร ถัดขึ้นมาเป็นชั้นแมนเทิลซึ่งเป็นของแข็งเนื้ออ่อนที่ยืดหยุ่นได้ (Plastic) ประกอบไปด้วย เหล็กแมกนีเซียม ซิลิกอน และธาตุอื่นๆ มีความหนาประมาณ 3,000 กิโลเมตร เปลือกโลกเป็นของแข็ง (Solid) มีองค์ประกอบส่วนใหญ่เป็นเฟลด์สปาร์ และควอตช์ (ซิลิกอนไดออกไซด์)

          บรรยากาศของโลกประกอบด้วยไนโตรเจน 77 % ออกซิเจน 21% ที่เหลือเป็นอาร์กอน คาร์บอนไดออกไซด์ และน้ำ
 คาร์บอนไดออกไซด์ช่วยในการกักเก็บความร้อนไว้ภายใต้ชั้นบรรยากาศโดยอาศัยภาวะเรือนกระจก ทำให้โลกมีความอบอุ่น ไม่
หนาวเย็นจนเกินไปสำหรับสิ่งมีชีวิต อย่างไรก็ตามถ้าปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มขึ้นมากขึ้นก็จะทำให้เกิดสภาวะโลกร้อน ซึ่งอาจ
ส่งผลให้สิ่งมีชีวิตไม่สามารถดำรงอยู่ได้
          นอกจากนี้โลกยังมีสนามแม่เหล็กซึ่งเกิดจากการเคลื่อนที่ของแก่นชั้นนอกซึ่งเป็นเหล็กเหลว ถึงแม้ว่าสนามแม่เหล็กโลกจะมี
ความเข้มไม่มาก  แต่ก็ช่วยปกป้องไม่ให้อนุภาคที่มีพลังงานสูงจากดวงอาทิตย์ (Solar wind) เดินทางผ่านมาที่ผิวโลกได้ โดยสนาม
แม่เหล็กจะกักให้อนุภาคเดินทางไปตามเส้นแรงแม่เหล็ก และเข้าสู่ชั้นบรรยากาศได้เพียงที่ขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้เท่านั้น  เมื่อ
อนุภาคพลังงานสูงปะทะกับโมเลกุลของแก๊สในชั้นบรรยากาศ ทำให้เกิดแสงสีสวยงาม สังเกตเห็นบนท้องฟ้ายามค่ำคืน เรียกว่า
"แสงเหนือแสงใต้" (Aurora)

          โลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ในทิศทางทวนเข็มนาฬิกาเมื่อมองจากเหนือขั้วโลกเหนือของโลกและดวงอาทิตย์ มีลักษณะการโคจรเป็นรูปวงรีใช้เวลาในการโคจร 1 รอบ 365.2564 วัน โดยมีระยะใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุด 147.1 ล้านกิโลเมตร และระยะไกลดวงอาทิตย์มากที่สุด 152.1 ล้านกิโลเมตร โดยแกนหมุนของโลก(ขั้วเหนือ-ใต้)ทำมุมเอียงกับระนาบการโคจรรอบดวงอาทิตย์ (ecliptic plane) 23.5 องศา การที่แกนโลกมีความเอียงนี่เองทำให้แต่ละพื้นที่บนโลกได้รับแสงจากดวงอาทิตย์ไม่เท่ากันในแต่ละวันใน 1 ปี จึงทำให้เกิดฤดูกาลขึ้นบนโลกนั่นเอง ในฤดูร้อนของซีกโลกเหนือ ขั้วโลกเหนือจะหันเข้าหาดวงอาทิตย์ และเมื่อขั้วโลกเหนือหันออกจากดวงอาทิตย์ก็จะเกิดฤดูหนาวขึ้นที่ซีกโลกเหนือ

ดวงจันทร์ (The Moon)

          ดวงจันทร์ (The Moon) ​เป็นบริวารดวงเดียวของโลกและมีขนาดเล็กกว่าโลกมาก หลังจากการก่อตัวของระบบสุริยะ ดวงจันทร์เย็นตัวอย่างรวดเร็วจนโครงสร้างภายในกลายเป็นของแข็งทั้งหมดจึงไม่มีสนามแม่เหล็ก  ดวงจันทร์มีมวลน้อยจึงมีแรงโน้มถ่วงน้อยจนไม่สามารถดึงดูดบรรยากาศไว้ได้  การที่ไม่มีชั้นบรรยากาศห่อหุ้มอยู่เลย ทำให้อุกกาบาตพุ่งชนพื้นผิวโดยอิสระไร้แรงเสียดทาน พื้นผิวของดวงจันทร์จึงปกคลุมไปด้วยฝุ่นผงและกรวดอุกกาบาต  เมื่อมองดูจากโลกเรามองเห็นพื้นที่สีคล้ำบนดวงจันทร์เป็นรูปกระต่าย  คนสมัยก่อนเข้าใจว่า บริเวณนั้นเป็นทะเลบนดวงจันทร์ แต่ปัจจุบันเป็นที่ทราบดีกันแล้วว่าบนดวงจันทร์ไม่มีน้ำ  พื้นที่แอ่งสีคล้ำบนดวงจันทร์เกิดขึ้นจากการพุ่งชนของอุกกาบาตขนาดใหญ่ในยุคแรกของระบบสุริยะ ทำให้พื้นผิวของดวงจันทร์ทะลุจนแมกมาซึ่งอยู่ข้างใต้ไหลขึ้นมาแข็งตัวเป็นหินบะซอลต์  ในยุคหลังๆ อุกกาบาตได้พุ่งชนและหลอมรวมกับดาวเคราะห์และดวงจันทร์ต่างๆ ของระบบสุริยะจนหมดแล้ว เหลือแต่อุกกาบาตขนาดจิ๋วซึ่งยังคงกระหน่ำชนพื้นผิวดวงจันทร์อยู่ตลอดเวลา

          ดวงจันทร์หันด้านเดียวเข้าหาโลก เนื่องจากปฏิสัมพันธ์ของแรงไทดัลของโลกและดวงจันทร์ ทำให้ดวงจันทร์หมุนรอบตัวเองใช้เวลาเท่ากับที่ดวงจันทร์โคจรรอบโลก ด้านตรงข้ามที่หันออกจากโลก (Far side of the Moon) จึงเต็มไปด้วยหลุมอุกกาบาตขนาดใหญ่เพราะดวงจันทร์ทำหน้าที่ปกป้องโลกไปในตัว และแม้ว่าดวงจันทร์จะมีขนาดเล็กกว่าโลกมากแต่ดวงจันทร์ก็มีอิทธิพลกับโลกมาก ทำให้เกิดปรากฏการณ์ต่างๆ เช่น ข้างขึ้นข้างแรม น้ำขึ้นน้ำลง สุริยุปราคา จันทรุปราคา  นักวิทยาศาสตร์พบว่า ดวงจันทร์กำลังเคลื่อนที่ช้าลงและห่างจากโลกมากขึ้น

          นอกจากโลกของเราที่โคจรรอบดวงอาทิตย์แล้วโลกยังมีดวงจันทร์ที่โคจรรอบโลกอยู่ด้วย โดยระนาบการโคจรรอบโลกของดวงจันทร์ทำมุมประมาณ 5 องศากับระนาบการโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์ ซึ่งสมมุติว่าระนาบทั้งสองเป็นระนาบเดียวกันแล้วจะทำให้เกิดอุปราคาขึ้นทุก 2 สัปดาห์ สลับกันระหว่างสุริยุปราคาและจันทรุปราคา นอกจากนี้ดวงจันทร์ยังมีคาบเวลาการโคจรรอบโลก 27.32 วัน เท่ากันกับคาบเวลาในการโคจรรอบตัวเองของดวงจันทร์ทำให้เรามองเห็นดวงจันทร์จากโลกเพียงด้านเดียวของดวงจันทร์อยู่เสมอ


ดาวอังคาร  (Mars)

          ดาวอังคาร  (Mars) เป็นดาวเคราะห์ที่อยู่ห่างจากดวงอาทิตย์เป็นอันดับที่ 4 ในบรรดาดาวเคราะห์ทั้งหมด ดาวอังคารมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 0.5 เท่าของโลก  ดาวอังคารมีโครงสร้างภายในประกอบด้วยแก่นของแข็งมีรัศมีประมาณ 1,700 กิโลเมตร ห่อหุ้มด้วยชั้นแมนเทิลที่เป็นหินหนืดหนาประมาณ 1,600 กิโลเมตร และมีเปลือกแข็งเช่นเดียวกับโลก   ดาวอังคารมีสีแดงเนื่องจากพื้นผิวประกอบด้วยออกไซด์ของเหล็ก (สนิมเหล็ก)  พื้นผิวของดาวอังคารเต็มไปด้วยหุบเหวต่างๆ มากมาย หุบเหวขนาดใหญ่ชื่อ หุบเหวมาริเนอริส (Valles Marineris) มีความยาว 4,000 กิโลเมตร กว้าง 600 กิโลเมตร ลึก 8 กิโลเมตร  นอกจากนี้ดาวอังคารยังมีภูเขาไฟที่สูงที่สุดในระบบสุริยะชื่อ ภูเขาไฟโอลิมปัส (Mount Olympus) สูง 25 กิโลเมตร  ฐานที่แผ่ออกไปมีรัศมี 300 กิโลเมตร ดาวอังคารมีบรรยากาศเบาบางมาก ประกอบด้วยคาร์บอนไดออกไซด์เป็นส่วนใหญ่ซึ่งเกิดจากการระเหิดของน้ำแข็งแห้ง (คาร์บอนไดออกไซด์แข็ง) ปกคลุมอยู่ทั่วไปบนพื้นผิวดาวอังคาร  ที่บริเวณขั้วเหนือและขั้วใต้ของดาวมีน้ำแข็ง(Ice water)ปกคลุมอยู่ตลอดเวลา  ดาวอังคารเป็นดาวเคราะห์ที่เป็นที่ชื่นชอบของผู้แต่งนิยายวิทยาศาสตร์ในหลายสิบปีที่ผ่านมาตั้งแต่มีการสังเกตดาวอังคารผ่านกล้องโทรทรรศน์ และพบรูปร่างพื้นผิวที่คล้ายกับคลองส่งน้ำของมนุษย์ดาวอังคาร  แต่หลังจากที่องค์การนาซาได้ส่งยานไปสำรวจดาวอังคารอย่างต่อเนื่อง ทำให้เราทราบว่า ลักษณะดังกล่าวเป็นเพียงร่องรอยที่เกิดขึ้นในธรรมชาติ          

          อย่างไรก็ตามจากการสำรวจพื้นผิวดาวอังคารโดยยานไวกิงออร์บิเตอร์ 1  และยานมาร์สโกลบอลเซอร์เวเยอร์พบร่องรอยท้องแม่น้ำที่เหือดแห้ง นักวิทยาศาสตร์ตั้งสมมติฐานว่า ถ้าเคยมีสิ่งมีชิวิตอยู่บนดาวอังคารมาก่อน ก็น่าจะมีซากหรือฟอสซิลของสิ่งมีชีวิตเหล่านั้นใต้ท้องน้ำหรือใต้น้ำแข็งที่ขั้วทั้งสองของดาวอังคาร

          ดาวอังคารมีดวงจันทร์บริวารขนาดเล็ก 2 ดวง คือ โฟบัสและดีมอส ดวงจันทร์ทั้งสองดวงมีรูปร่างไม่สมมาตร และมีขนาดเล็กกว่า 25 กิโลเมตร สันนิษฐานว่าเป็นดาวเคราะห์น้อยที่ถูกแรงโน้มถ่วงของดาวอังคารดูดจับมาเป็นบริวาร ภายหลังการก่อตัวของระบบสุริยะ

ดาวพฤหัสบดี (Jupiter)

          ดาวพฤหัสบดี (Jupiter) เป็นวัตถุท้องฟ้าที่มีความสว่างมากเป็นอันดับที่ 4 รองจากดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ และดาวศุกร์  และเป็นที่รู้จักกันมาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์  ดาวพฤหัสบดีถูกสำรวจเป็นครั้งแรกโดยยานไพโอเนียร์ 10 ในปี พ.ศ.2516 ติดตามด้วย ไพโอเนียร์ 11, วอยเอเจอร์ 1, วอยเอเจอร์ 2, ยูลิซิส และกาลิเลโอ  ดาวพฤหัสบดีเป็นดาวเคราะห์แก๊สซึ่งบรรยากาศหนาแน่น มีองค์ประกอบหลักเป็นไฮโดรเจน 90% และฮีเลียม 10% ปะปนด้วยมีเทน น้ำ และแอมโมเนียจำนวนเล็กน้อย ลึกลงไปด้านล่างเป็นแมนเทิลชั้นนอกซึ่งประกอบไปด้วยไฮโดรเจนและฮีเลียมเหลว และแมนเทิลชั้นในที่ประกอบไปด้วยไฮโดรเจนซึ่งมีสมบัติเป็นโลหะ และแก่นกลางที่เป็นหินแข็งมีขนาดเป็น 2 เท่าของโลก

          ดาวพฤหัสบดีมีขนาดใหญ่กว่าโลกมาก แต่หมุนรอบตัวเองหนึ่งรอบใช้เวลาไม่ถึง 10 ชั่วโมง แรงหนีศูนย์กลางเหวี่ยงให้ดาวมีสัณฐานเป็นทรงแป้น  และทำให้การหมุนเวียนของชั้นบรรยากาศแบ่งเป็นแถบสีสลับกัน แถบเหล่านี้เป็นเซลล์การพาความร้อน (Convection cell) แถบสีอ่อนคืออากาศร้อนยกตัว แถบสีเข้มคืออากาศเย็นจมตัวลง นอกจากนั้นยังมีจุดแดงใหญ่ (Great Red Spot) เป็นรูปวงรีขนาดใหญ่ซึ่งมีอาณาบริเวณกว้าง 25,000 กิโลเมตร สามารถบรรจุโลกได้สองดวง จุดแดงใหญ่เป็นพายุหมุนซึ่งมีอายุมากกว่า 300 ปี

          ดาวพฤหัสบดีมีดวงจันทร์บริวารที่ถูกค้นพบแล้วมากถึง 62 ดวง แต่ดวงจันทร์ส่วนใหญ่มีขนาดเล็กมากและมีรูปร่างไม่เป็นทรงกลม เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นดาวเคราะห์น้อยหรือดาวหางซึ่งถูกแรงโน้มถ่วงของดาวพฤหัสบดีจับมาเป็นบริวารในภายหลัง ไม่ได้วิวัฒนาการมาพร้อมๆ กับดาวพฤหัสบดี ยกเว้น ดวงจันทร์ขนาดใหญ่ 4 ดวง ซึ่งถูกค้นพบโดยกาลิเลโอ จึงถูกขนานนามว่า ดวงจันทร์กาลิเลียน (Galilean moons) ซึ่งได้แก่ ไอโอ ยูโรปา แกนีมีด คาลิสโต

ดาวเสาร์ (Saturn)

         ดาวเสาร์(Saturn)เป็นดาวเคราะห์ลำดับที่ 6 ในระบบสุริยะซึ่งมีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่สองรองจากดาวพฤหัสบดี โดยเป็นดาวเคราะห์ที่อยู่ห่างไกลจากโลกมากที่สุดที่สามารถมองเห็นจากโลกได้ด้วยตาเปล่า องค์ประกอบหลักของดาวเสาร์จะเป็นแก๊สและของเหลว ดาวเสาร์มีลักษณะเป็นทรงกลมแป้นสูงกว่าดาวเคราะห์ดวงอื่นๆ กล่าวคือมีเส้นผ่านศูนย์กลางในแนวเส้นศูนย์สูตร (60,268 กิโลเมตร) มากกว่าเส้นผ่านศูนย์กลางในแนวขั้ว (54,364 กิโลเมตร) เกือบ 10 เปอร์เซนต์ ทั้งนี้เนื่องมากจากดาวเสาร์มีการหมุนโคจรรอบตัวเองที่เร็วมาก (ประมาณ 10.66 ชั่วโมง)
ดาวเสาร์เป็นดาวเคราะห์ที่มีความสวยงามเมื่อมองผ่านกล้องโทรทรรศน์เนื่องจากจะมองเห็นวงแหวนที่ล้อมรอบดาวเสาร์ โดยวงแหวนของดาวเสาร์นั้นจะประกอบไปด้วยก้อนหินและก้อนน้ำแข็งซึ่งสามารถสะท้อนแสงได้ดี จึงสามารถสังเกตเห็นวงแหวนได้โดยง่าย วงแหวนของดาวเสาร์นี้มีความกว้างวัดจากขอบในสุดถึงขอบนอกสุดถึงประมาณ 65,000 กิโลเมตร แต่มีความหนาโดยเฉลี่ยเพียงประมาณ 500 กิโลเมตร

วงแหวนดาวเสาร์

         ดาวเสาร์อยู่ห่างจากดวงอาทิตย์ 10 AU จึงไม่ถูกรบกวนจากลมสุริยะจากดวงอาทิตย์ จึงไม่สูญเสียบรรยากาศชั้นนอกและมีมวลมาก มวลมากย่อมมีแรงโน้มถ่วงมาก สามารถดูดจับดาวหางที่โคจรผ่านเข้ามา ดาวหางมีองค์ประกอบเป็นน้ำแข็งจึงเปราะมาก  เมื่อดาวหางเข้าใกล้ดาวเสาร์ แรงโน้มถ่วงมหาศาลจะทำให้เกิดแรงไทดัลภายในดาวหาง ด้านที่หันเข้าหาดาวเสาร์จะถูกแรงกระทำมากกว่าด้านอยู่ตรงข้าม ในที่สุดดาวหางไม่สามารถทนทานต่อแรงเครียดภายใน จึงแตกเป็นเศษเล็กเศษน้อยสะสมอยู่ในวงโคจรรอบดาวเสาร์และกลายเป็นวงแหวนในที่สุด ด้วยเหตุนี้วงแหวนของดาวเสาร์จึงประกอบด้วยอนุภาคจำนวนมหาศาลซึ่งมีวงโคจรอิสระ มีขนาดตั้งแต่เซนติเมตรไปจนหลายร้อยเมตร ส่วนใหญ่ประกอบด้วยน้ำแข็ง ปะปนอยู่กับเศษหินเคลือบน้ำแข็ง วงแหวนของดาวเสาร์บางมาก แม้จะมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางยาวถึง 250,000 กิโลเมตร แต่มีความหนาไม่ถึง 1.5 กิโลเมตร วงแหวนแต่ละชั้นมีชื่อเรียกตามอักษรภาษาอังกฤษ เช่น วงแหวนสว่าง (A และ B) และวงสลัว (C) ช่องระหว่างวงแหวน A และ B เรียกว่า ช่องแคสสินี (Cassini division )

ดวงจันทร์ของดาวเสาร์


        แม้ว่าดาวเสาร์จะมีดวงจันทร์บริวารที่ถูกค้นพบแล้วมากถึง 62 ดวง แต่ดวงจันทร์ส่วนใหญ่มีขนาดเล็กมากและมีรูปร่างไม่เป็นทรงกลม เนื่องจากเป็นดาวเคราะห์น้อยหรือดาวหางซึ่งถูกแรงโน้มถ่วงของเสาร์จับมาเป็นบริวารในภายหลัง ไม่ได้วิวัฒนาการขึ้นมาพร้อมๆ กับดาวเสาร์ ยกเว้น ดวงจันทร์ขนาดใหญ่ เช่น ไททัน มิมาส เอนเซลาดุส เททีส ไดโอเน รีอา ทั้งนี้ดวงจันทร์แต่ละดวงมีสมบัติพิเศษแตกต่างกันไป

     ดาวเสาร์เป็นดาวเคราะห์ที่มีดวงจันทร์บริวารจำนวนมาก โดยดาวบริวารที่มีขนาดใหญ่ที่สุดคือไททัน(Titan) โดยมีเส้นผ่านศูนย์กลางถึง 5,150 กิโลเมตร ไททันถูกค้นพบในปีค.ศ. 1655 และไททันยังเป็นดาวบริวารเพียงดวงเดียวในระบบสุริยะที่ตรวจพบชั้นบรรยากาศ

ยูเรนัส (Uranus)

         ยูเรนัส (Uranus) ถูกค้นพบครั้งแรกโดย วิลเลี่ยม เฮอส์เชล ในปีพ.ศ.2534  สองร้อยปีต่อมา ยานวอยเอเจอร์ 2 ทำการสำรวจดาวยูเรนัสในปี พ.ศ. 2529 พบว่า บรรยากาศของดาวยูเรนัสประกอบด้วไฮโดรเจน 83%, ฮีเลียม 15% และมีเทน 2% ดาวยูเรนัสมีสีฟ้าเนื่องจากแก๊สมีเทนดูดกลืนสีแดงและสะท้อนสีน้ำเงิน บรรยากาศมีลมพัดแรงมาก ลึกลงไปที่แก่นของดาวห่อหุ้มด้วยโลหะไฮโดรเจนเหลว 
ขณะที่ดาวเคราะห์ส่วนใหญ่มีแกนหมุนรอบตัวเองเกือบตั้งฉากกับระนาบสุริยวิถีแต่แกนของดาวยูเรนัสวางตัวเกือบขนานกับสุริยวิถีดังนั้oอุณหภูมิบริเวณขั้วดาวจึงสูงกว่าบริเวณเส้นศูนย์สูตร ดาวยูเรนัสมีวงแหวนเช่นเดียวกับดาวเคราะห์ชั้นนอกดวงอื่นๆ วงแหวนของดาวยูเรนัสมีความสว่างไม่มาก เนื่องจากประกอบด้วยอนุภาคขนาดเล็ก
มีขนาดตั้งแต่ฝุ่นผงจนถึง 10 เมตร  ดาวยูเรนัสมีดวงจันทร์บริวารอย่างน้อย 27 ดวง ดวงจันทร์ขนาดใหญ่ที่มีรูปร่างเป็นทรงกลมได้แก่ มิรันดา 
แอเรียล อัมเบรียล ไททาเนีย และ โอเบรอน

          ในปีค.ศ.1986 เมื่อยานสำรวจวอยเอเจอร์ 2 โคจรผ่านดาวยูเรนัสได้ถ่ายภาพดาวยูเรนัสพร้อมวงแหวนและดาวบริวารส่งกลับมายังโลกเป็นครั้งแรก อย่างไรก็ตามวงแหวนของดาวยูเรนัสมีความมืดมากเมื่อเทียบกับวงแหวนของดาวเสาร์ เราจึงสังเกตุเห็นวงแหวนของดาวยูเรนัสได้ยาก โดยวงแหวนที่สว่างที่สุดคือวงแหวน ε



ดาวเนปจูน  (Neptune)

          ดาวเนปจูน  (Neptune)ดาวเนปจูนมีองค์ประกอบคล้ายคลึงกับดาวยูเรนัส คือ มีบรรยากาศเป็นไฮโดรเจนและฮีเลียม และมีมีเทนเจือปนอยู่จึงมีสีน้ำเงิน ดาวเนปจูนมีขนาดเล็กกว่าดาวยูเรนัสเล็กน้อย แต่มีความหนาแน่นมากกว่า โดยที่แก่นของดาวเนปจูนเป็นของแข็งมีขนาดใกล้เคียงกับโลกของเรา  ในช่วงเวลาที่ยานวอยเอเจอร์ 2 เข้าใกล้ดาวเนปจูนได้ถ่ายภาพ จุดมืดใหญ่ (Great dark spot) ทางซีกใต้ของดาวมีขนาดใหญ่เกือบครึ่งหนึ่งของจุดแดงใหญ่บนดาวพฤหัสบดี (ประมาณเท่ากับเส้นผ่านศูนย์กลางของโลก) จุดมืดใหญ่นี้เป็นพายุหมุนเช่นเดียวกับจุดแดงใหญ่บนดาวพฤหัสบดี มีกระแสลมพัดแรงที่สุดในระบบสุริยะ ความเร็วลม 300 เมตร/วินาที หรือ 1,080 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

          ดาวเนปจูนมีวงแหวน 4 วง แต่ละวงมีความสว่างไม่มากนัก เพราะประกอบด้วยอนุภาคที่เป็นผงฝุ่นขนาดเล็ก จนถึงขนาดประมาณ 10 เมตร เช่นเดียวกับวงแหวนของดาวพฤหัสบดีและดาวยูเรนัส  ดาวเนปจูนมีดวงจันทร์บริวารที่ค้นพบแล้ว 13 ดวง ดวงจันทร์ดวงใหญ่ที่สุดชื่อ "ทายตัน" (Triton)  ทายตันเคลื่อนที่ในวงโคจรโดยมีทิศทางสวนกับการหมุนรอบตัวเองของดาวเนปจูน ซึ่งอาจเป็นเพราะถูกแรงโน้มถ่วงของดาวเนปจูนจับเป็นบริวารภายหลังจากการก่อตัวของระบบสุริยะ  นักดาราศาสตร์พยากรณ์ว่า ทายตันจะโคจรเข้าใกล้ดาวเนปจูนเรื่อยๆ และจะพุ่งเข้าชนดาวเนปจูนในที่สุด (อาจใช้เวลาเกือบ 100 ล้านปี)

ดาวเคราะห์แคระ(Dwarf Planet)

          ดาวเคราะห์แคระ (Dwarf Planet) หมายถึง เทห์วัตถุที่มีสมบัติดังต่อไปนี้ครบถ้วน

1. โคจรรอบดวงอาทิตย์

2. มีมวลมากพอที่จะแรงโน้มถ่วงของดาวสามารถเอาชนะความแข็งของ เนื้อดาว ส่งผลให้ดาวอยู่ในสภาวะสมดุลไฮโดรสแตติก (hydrostatic     equilibrium) เช่น ทรงกลม หรือเกือบกลม

3. ไม่สามารถกวาดวัตถุในบริเวณข้างเคียงไปได้

4. ไม่ใช่ดวงจันทร์บริวารของดาวเคราะห์ดาวพลูโตถูกลดระดับให้เป็นดาวเคราะห์แคระเนื่อง จากมีวงโคจรเป็นรูปวงรีบางส่วน ซ้อนทับวงโคจรของดาวเนปจูน  ส่วนดาวเคราะห์น้อยที่ใหญ่ที่สุดคือดาวซีรีสถูกยกระดับให้เป็นดาวเคราะห์แคระ เพราะมีขนาดค่อนข้างใหญ่ และมีรูปร่างทรงกลม





ดาวเคราะห์น้อย (Asteroid )

          หลังจากที่มีการค้นพบยูเรนัสเป็นดาวเคราะห์ลำดับที่ 7 ของระบบสุริยะ ก็ได้มีการค้นพบดาวเคราะห์ขนาดเล็กชื่อ "ซีรีส" (Ceres) ในปีพ.ศ.2344  และต่อจากนั้นอีกไม่นานก็ได้มีการค้นพบดาวเคราะห์แบบนี้อีก 4 ดวงคือ พัลลาส จูโน เวสตา แอสเตรีย  จนกระทั่งได้มีการค้นพบดาวเนปจูนในปี พ.ศ.2389 จึงปรับลดสถานะของดาวเคราะห์ขนาดเล็กทั้งห้าดวงเรียกว่า "ดาวเคราะห์น้อย" (Minor planets) ต่อมาเมื่อมีการพัฒนากล้องโทรทรรศน์ให้มีขนาดใหญ่ขึ้นก็มีการค้นพบดาวเคราะห์น้อยจำนวนมากบริเวณระหว่างวงโคจรของดาวอังคารและดาวพฤหัสบดีและเมื่อนักดาราศาสตร์ทราบว่า ดาวเคราะห์น้อยเป็นเพียงวัสดุที่พยายามจะรวมตัวกันเป็นดาวเคราะห์แต่ไม่สำเร็จจึงเรียกพวกมันว่า "Asteroids" (ภาษาไทยยังคงเรียกว่าดาวเคราะห์น้อยเหมือนเดิม) และเรียกบริเวณที่ดาวเคราะห์น้อยส่วนใหญ่โคจรอยู่ว่า แถบดาวเคราะห์น้อย(Asteroid belt)

          ดาวเคราะห์น้อยส่วนใหญ่มีรูปทรงไม่สมมาตรไม่เป็นทรงกลม มีขนาดตั้งแต่ 1 - 1,000 กิโลเมตร ดาวเคราะห์น้อยมีมวลน้อยจึงมีแรงโน้มถ่วงน้อยไม่สามารถเอาชนะแรงยึดเหนี่ยวระหว่างสสารที่เป็นเนื้อดาว จึงไม่มีรูปร่างเป็นทรงกลม (ยกเว้นดาวซีรีสซึ่งเป็นดาวเคราะห์น้อยที่มีขนาดใหญ่ที่สุด มีมวลมากพอที่แรงโน้มถ่วงจะยุบดาวให้เป็นทรงกลม จึงถูกยกสถานะเป็นดาวเคราะห์แคระ)  ดาวเคราะห์น้อยเปรียบเสมือนฟอสซิลของระบบสุริยะ เพราะว่าพวกมันคือวัสดุที่พยายามจะรวมตัวกันเป็นดาวเคราะห์ แต่ไม่สำเร็จเนื่องจากถูกรบกวนโดยแรงโน้มถ่วงมหาศาลของดาวพฤหัสบดีซึ่งมีวงโคจรอยู่ใกล้เคียง สภาพของมันจึงไม่เคยมีการเปลี่ยนแปลงนับตั้งแต่ระบบสุริยะกำเนิดขึ้นมา

          ดาวเคราะห์น้อยส่วนใหญ่มีวงโคจรที่ไม่อยู่ในระนาบสุริยวิถี และอยู่ห่างจากโลกไม่เกิน 195 ล้านกิโลเมตร พวกมันมีโอกาสที่จะโคจรมาชนโลกได้  นักดาราศาสตร์จึงจำเป็นต้องติดตามการเคลื่อนที่ของดาวเคราะห์น้อยที่มีวงโคจรใกล้โลกซึ่งเรียกว่า "นีโอ" (NEO: Near Earth Objects)

อุกกาบาต(Meteorite)

          วัตถุจำพวกดาวเคราะห์น้อยที่มีขนาดเล็กกว่า 1 กิโลเมตร เรียกว่า"สะเก็ดดาว" (Meteoroids) เมื่อสะเก็ดดาวตกลงสู่โลกและเสียดสีกับบรรยากาศจนเกิดความร้อนและลุกติดไฟ มองเห็นเป็นทางยาวในเวลากลางคืนเรียกว่า "ดาวตก" หรือ"ผีพุ่งใต้" (Meteor หรือ Shooting star) ดาวตกที่มองเห็นส่วนมากมีขนาดประมาณเม็ดทราย แต่เคลื่อนที่ด้วยความเร็วสูงประมาณ40 - 70 กิโลเมตร/วินาที จึงเสียดสีกับอากาศจนร้อนมากจนเผาไหม้หมดก่อนที่จะตกถึงพื้นผิวโลก อย่างไรก็ตามถ้าสะเก็ดดาวขนาดใหญ่ตกลงมาก็จะเผาไหม้ไม่หมด เหลือชิ้นส่วนตกค้างบนพื้นผิวโลกซึ่งเรียกว่า "อุกกาบาต" (Meteorite) และหลุมที่เกิดจากการพุ่งชนเรียกว่า "หลุมอุกกาบาต" (Meteor crator)

ดาวหาง (Comet)


          ดาวหาง (Comet) เป็นวัตถุจำพวกน้ำแข็งซึ่งมีจุดกำเนิดมาจากขอบของระบบสุริยะ นักดาราศาสตร์ตั้งสมมติฐานว่า ดาวหางมีกำเนิดมาจากเมฆออร์ท (Oort's cloud) ซึ่งเป็นผลึกน้ำแข็งอยู่ที่ขอบของระบบสุริยะ เมื่อมีแรงภายนอกมากระทำ เช่น ซูเปอร์โนวา(Supernova) หรือดาวฤกษ์ระเบิด   ดาวหางจะหลุดออกจากถิ่นกำเนิดและถูกแรงโน้มถ่วงของดวงอาทิตย์ดึงดูดมาเป็นบริวาร วงโคจรของดาวหางจึงยาวไกลและมีความรีมาก ไม่อยู่ในระนาบสุริยวิถี เนื่องจากเมฆออร์ทมีลักษณะเป็นทรงกลมที่ห่อหุ้มดวงอาทิตย์ ดาวหางจึงเคลื่อนที่เข้าดวงอาทิตย์ได้จากทุกทิศทาง

          ดาวหางเป็นวัตถุขนาดเล็กของระบบสุริยะ นิวเคลียสของดาวหางมีขนาดประมาณ 1 - 10 กิโลเมตร มีองค์ประกอบหลักเป็นน้ำแข็งปะปนกับเศษหินและสสารอื่นๆ ซึ่งดาวหางกวาดชนขณะที่โคจรรอบดวงอาทิตย์  เราจีงเปรียบดาวหางเป็นก้อนน้ำแข็งสกปรกอย่างไรก็ตาม ดาวหางอาจเป็นพาหะนำเชื้อชีวิตจากดาวดวงหนึ่งไปสู่ดาวอีกดวงหนึ่ง  ดาวหางเป็นทั้งผู้สร้างและผู้ทำลาย ดาวหางทำให้โลกมีน้ำในมหาสมุทรและนำสิ่งมีชีวิตมาสู่บนโลก แต่ดาวหางก็เคยพุ่งชนโลกจนทำให้สิ่งมีชีิวิตบางชนิดสูญพันธุ์ไปแล้วหลายรอบ (รอบละประมาณหนึ่งร้อยล้านปี) ครั้งล่าสุดคือ ไดโนเสาร์สูญพันธุ์เมื่อ 65 ล้านปีมาแล้ว

          เมื่อดาวหางอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์จะเป็นเพียงก้อนน้ำแข็งที่ไม่มีหางเรียกว่า "นิวเคลียส (Nucleus) ประกอบไปด้วยน้ำแข็ง คาร์บอนไดออกไซด์ มีเทน แอมโมเนีย โดยมีเปลือกแข็งห่อหุ้มอยู่  เมื่อดาวหางโคจรเข้าใกล้ดวงอาทิตย์น้ำแข็งเหล่านี้จะระเหิดเป็นแก๊ส ด้านที่หันเข้าหาแสงอาทิตย์จะมีแก๊สประทุลอยออกมาห่อหุ้มนิวเคลียสเรียกว่า  "โคมา" (Coma) ซึ่งมีอาจขนาดหลายร้อยหลายพันกิโลเมตร ลมสุริยะหรืออนุภาคพลังงานสูงจากดวงอาทิตย์ปะทะโคมาให้ปลิวไปยังด้านหลังกลายเป็น "หาง" (Tail)  ยาวนับล้านกิโลเมตร   หางของดาวหางมี 2 ชนิดคือ หางแก๊สและหางฝุ่น   "หางแก๊ส" (Ion tail) มีลักษะเป็นเส้นตรงชี้ไปทางทิศตรงกันข้ามกับดวงอาทิตย์ มีสีฟ้าเกิดจากแก๊สของดาวหางได้รับพลังงานดวงอาทิตย์แล้วคายประจุออกมา   "หางฝุ่น" (Dust tail) เกิดจากมวลของดาวหางที่พ่นออกมาจากนิวเคลียส มวลเหล่านี้มีโมเมนตัมจึงเคลื่อนที่โค้งไปตามทิศทางที่ดาวหางโคจร  เมื่อดาวหาโคจรรอบดวงอาทิตย์ก็จะสูญเสียมวลไปเรื่อยๆ จนกระทั่งหมดดวง ดาวหางจึงมีอายุไม่ยืน






<<< บทที่ 6 ดาวฤกษ์                                                                      บทที่ 8 เทคโนโลยีอวกาศ >>>

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น